9 ส.ค. 2555

10151 ไทยศึกษา หน่วยที่5

หน่วยที่ 5
เทคโนโลยีไทย

ตอนที่ 1
ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
1.1 ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์
นับตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์เป็นต้นมา มนุษย์เริ่มต้นเรียนรู้จากธรรมชาติ รู้จักใช้ความคิดและสร้างสรรค์ความรู้ในการอธิบายสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในธรรมชาติ เรียกว่า ธรรมชาติวิทยา และใช้ความรู้นั้นนมาสร้างสรรค์เทคโนโลยีเพื่อเป็นพื้นฐานในการประกอบกิจกรรมต่างๆและพัฒนาอย่างต่อเนื่องเป็นภูมิปัญญาของแต่ละชุมชน สังคม เมื่อมนุษย์สามารถพัฒนาความรู้ในยุควิทยาศาสตร์โดยเริ่มจากประเทศตะวันตก ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ได้เข้ามาแทนที่ธรรมชาติวิทยา ทำให้มนุษย์สามารถสร้างสรรค์และใช้ประโยชน์เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีให้เจริญก้าวหน้าขึ้นอย่างรวดเร็ว

1.2 ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับเทคโนโลยี
เทคโนโลยี หรือ เทคนิควิทยา หรือ ประยุกตวิทยา คือการนำความรู้ทางธรรมชาติวิทยาต่อเนื่องถึงวิทยาศาสตร์มาใช้เป็นวิธีปฏิบัติและประยุกต์ใช้ในการปรับสภาพธรรมชาติที่เป็นอยู่ เพื่อให้การดำรงชีวิตง่ายและสะดวกยิ่งขึ้น 
การสร้างและพัฒนาเทคโนโลยีมีตั้งแต่ระดับพื้นฐาน ไปจนถึงการสร้างสรรค์เทคโนโลยีในระดับซับซ้อนยิ่งขึ้นตามความต้องการและความก้าวหน้าทางความรู้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีจึงสะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้มของสังคมนั้นๆด้วย เทคโนโลยีแบ่งกว้างๆได้เป็นเทคโนโลยีเหมาะสม และ เทคโนโลยีก้าวหน้า ที่พัฒนาต่อเนื่องไปในระดับสูง

ตอนที่ 2 
บทบาทและความสำคัญของเทคโนโลยีในสังคมไทย
2.1 เทคโนโลยีในสมัยสังคมไทยจารีต
เทคโนโลยีระดับพื้นฐานในสมัยสังคมจารีตของไทย ช่วยแก้ปัญหาความต้องการปัจจัยพื้นฐานก่อให้เกิดประโยชน์สุขในการดำรงชีวิต

2.2 การรับเทคโนโลยีตะวันตก
ตั้งแต่คริสตศตวรรษที่ 17 เป็นต้นมา ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ในประเทศตะวันตกก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง การติดต่อกับประเทศตะวันตกในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นทำให้สังคมไทยได้สัมผัสวิทยาการและเทคโนโลยีสมัยใหม่ ที่สำคัญได้แก่แพทย์ตะวันตก และ เทคโนโลยรการพิมพ์

สังคมไทยเปิดรับเทคโนโลยีตะวันตกเพื่อประโยชน์ด้านการค้า สาธารณูปโภค การคมนาคม และการผลิตบุคคลากรที่มีความรู้สนองต่อความต้องการของประเทศ ในที่สุดเทคโนโลยีดั้งเดิมของไทยในสมัยสังคมจารีตถูกทอดทิ้งไป ทำให้การสืบทอดและการพัฒนาหยุดชะงัก ภูมิปัญญาไทยถูกละเลยอย่างน่าเสียดายและเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ไทยต้องเสียเงินเป็นจำนวนมากในการซื้อและพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ สืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

2.3 เทคโนโลยีสมัยใหม่ในสังคมไทย
วิทยาศาสตร์สมัยใหม่ก่อให้เกิดความรู็ในระดับลึกหลายด้าน ความรู้เหล่านี้ได้นำไปประยุกต์ใช้ในการประดิษฐ์ เครื่องมือ เครื่องจักรกล และการสร้างสรรค์การใช้เทคโนโลยีต่างๆ เป็นจุดเด่นของความเจริญก้าวหน้าในสังคมปัจจุบัน
เทคโนโลยีสมัยใหม่สะท้อนให้เห็นแนวโน้มของสังคมในปัจจุบัน สังคมไทยโดยเฉพาะสังคมเมืองใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่โดยไม่ได้อยู่ในฐานะเจ้าของเทคโนโลยี แม้จะมีความพยายามส่งเสริมการเรียนรู้และการค้นคว้าวิจัยเพื่อรองรับการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แต่ก็ยังต้องใช้เงินจำนวนมากซื้อเทคโนโลยีจากต่างประเทศและพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศในระดับที่สูงมาก จนเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่ง ที่ทำให้การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไม่เจริญก้าวหน้าด้วยความมั่นคง
นอกจากนี้ผลจากการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยียังมีทั้งด้านสร้างสรรค์และทำลายโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ก่อเกิดปัญหาที่ยากจะแก้ไขตามมา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจึงเป็นเสมือนดาบสองคมที่ต้องเลือกใช้อย่างระวัง ด้วยเหตุนี้การเลือกศึกษาเทคโนโลยีพื้นบ้านเด่นๆของไทยเพื่อพัฒนาให้เป็นเทคโนโลยีที่เหมาะสมจะทำให้เราพึ่งพาตนเองในด้านเทคโนโลยีมากขึ้นและทำให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน

ตอนที่3 
เทคโนโลยีเด่นในวิถีชีวิตไทย
เทคโนโลยีส่วนใหญ่ของไทยสร้างสรรค์จากภูมิปัญญาไทยที่สืบทอดประสปการณ์ความรู้ตั้งแต่ยุคสังคมจารีต เทคโนโลยีเด่นที่พอจะยกขึ้นเป็นตัวอย่างมีดังนี้

3.1 เทคโนโลยีการเกษตร
การเกษตรเป็นพื้นฐานสำคัญของเศรษฐกิจไทยมาเนิ่นนานจนถึงปัจจุบัน มีการใช้เทคโนโลยีที่สร้างสรรค์ในท้องถิ่นซึ่งสอดคล้องกับสภาพภูมิประเทศและแรงงานที่มีอยู่ เมื่อผลผลิตทางการเกษตรกลายเป็นสินค้าด้านอุตสาหกรรมอาหาร และมีความต้องการในปริมาณที่สูงขึ้นจึงนำเทคโนโลยีก้าวหน้ามาใช้ ก่อให้เกิดทั้งผลดีและผลเสียโดยรวม
เทคโนโลยีการเกษตรที่สำคัญในสังคมไทยได้แก่ เทคโนโลยีการทำนา เทคโนโลยีประมง

การทำนาในยุคสมัยก่อนเทคโนโลยีเครื่องจักรกลอาศัยความรู้ภูมิปัญญาไทยสร้างสรรค์เทคโนโลยีที่เหมาะสมจากพลังงานธรรมชาติและคิดค้นเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆเป็นหลัก

การตั้งถิ่นฐานบริเวณใกล้แหล่งน้ำ ก่อเกิดความเข้าใจในสภาพพื้นที่และธรรมชาติของสัตว์น้ำ คนไทยปรับประยุกตฺใช้เทคโนโลยีการประมงอย่างหลากหลาย เช่น การวางโป๊ะ โพงพาง การใช้ลอบ ไซ ยอ การวางเบ็ดเป็นต้น รู้จักปรับสภาพพื้นที่เพื่อเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์น้ำ

ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา วิทยาการต่างๆก้าวหน้ารวดเร็วมากจนถึงปัจจุบัน การพัฒนาการเกษตรแบบยั่งยืนพร้อมกับการรักษาธรรมชาติด้วยเทคโนโลยีที่เหมาะสมเพื่อสร้างความมั่นคงให้กับระบบนิเวศน์ จะเป็นแนวทางพัฒนาที่ยังประโยชน์แก่ประเทศและสังคมโดยรวม

3.2 เทคโนโลยีเภสัชกรรม
โรคภัยไข้เจ็บเป็นปัญหาที่มนุษย์ทุกยุคทุกสมัยต้องเผชิญ เภสัชกรรมไทยนับเป็นความรู้และการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมในการดูแลรักษาและบรรเทาโรค แม้ว่าสมัยหนึ่งความรู้ทางด้านนี้จะชะงักการพัฒนาไป แต่ปัจจุบันได้มีกาศึกษาค้นคว้าใหม่บนพื้นฐานของเทคโนโลยีเภสัชกรรมที่เป็นวิทยาศาสตร์และนำมาเป็นตัวเลือกหนึ่งในการรักษาพยาบาล ความรู้ด้านเภสัชกรรมในสังคมไทยเป็นภูมิปัญญาที่สั่งสมและถ่ายทอดสืบต่อกันมาเนิ่นนาน ดังนี้

(1.) ความรู้และทฤษฎีด้านเภสัชกรรมไทย เป็นความรู้จากการสังเกตสรรพคุณและเลือกใช้สมุนไพรปรุงยา มีหลักสำคัญประกอบด้วย เภสัชวัตถุ สรรพคุณวัตถุ คณาเภสัช และ เภสัชกรรม

(2.) ความรู้เกี่ยวกับชนิดและลักษณะสมุนไพร ทั้งจากพืช สัตว์ แร่ธาตุ

(3.) ความรู้เกี่ยวกับขั้นตอนการปรุงยา เริ่มจากการเลือกยา ขนาดปริมาณ การแปรสภาพ การผสมยา และจัดเก็บเมื่อปรุงเสร็จแล้ว เมื่อการแพทย์แผนตะวันตกเข้ามามีบทบาทในสังคมไทย การประยุกต์พัฒนาภูมิปัญญาไทยด้านเภสัชกรรมหยุดชะงักไปในช่วงเวลาหนึ่ง การรักษาพยาบาลและการซื้อยาจากต่างประเทศทำให้เราเสียเงินจำนวนมากและต้องพึ่งพาต่างชาติ เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว ปัจจุบันจึงมีการประยุกต์พัฒนาประโยชน์จากสมุนไพรไทยทำให้ภูมิปัญญาที่สั่งสมมามีพลวัตต่อการใช้ประโยชน์ ในกระแสแห่งการเปลี่ยนแปลงทางวิทยาการที่ดำเนินไปอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน

3.3 เทคโนโลยีชลประทาน
ในบางพื้นที่ของประเทศไทยมีสภาพภูมิประเทศไม่เอื้ออำนวยต่อการดำรงชีวิตและกิจกรรมการเกษตร การใช้ความรู้ทางเทคโนโลยีชลประทาน ทั้งในระบบท้องถิ่น โดยชุมชนและการจัดการโดยรัฐแสดงให้เห็นถึงการพัฒนาความรู้เกี่ยวกับการจัดการเรื่องน้ำในสังคมไทย คนไทยสามารถวางแผนจัดระบบชลประทานในพื้นที่ที่มีปัญหาเรื่องน้ำ โดยอาศัยความรู้เกี่ยวกับภูมิศาสตร์และลักษณะการไหลการระบายน้ำ นับเป็นเทคโนโลยีวิถีชีวิตไทยที่โดดเด่นมายาวนาน

ระบบชลประทานยุคแรกของไทย พบในบริเวณเมืองโบราณหลายแห่ง มีทั้งการทำแนวคันดินเพื่อกำหนดทิศทางของน้ำ การทำเหมืองฝายสำหรับเก็บกักน้ำ อาศัยความรู้และเทคโนโลยีชลประทานที่สะท้อนถึงการสั่งสมภูมิปัญญาไทย

ฝาย หรือ เหมืองฝาย เป็นการก่อสร้างทำนบขวางลำน้ำเพื่อกั้นน้ำให้มีระดับสูงพอที่จะไหลเข้าลำเหมืองหรือคลองส่งน้ำไปยังพื้นที่ที่ต้องการ และให้น้ำที่เหลือล้นข้ามสันฝายต่อไปในลำน้ำเดิมได้

การจัดการเหมืองฝายยังเป็นการวางระบบดูแลการใช้ทรัพยากรน้ำร่วมกันทั้งในชุมชนและระหว่างชุมชนที่อยู่บนเส้นทางน้ำเดียวกัน ชาวบ้านจะเลือกผู้นำท้องถิ่นทำหน้าที่ "แก่เหมือง" หรือ "แก่ฝาย" ดูแลลำเหมืองและฝายควบคุมการจัดสันปันน้ำและแก้ปัญหากรณีมีข้อพิพาทเรื่องน้ำ

เขื่อนระบายน้ำ เป็นเทคโนโลยีชลประทานสมัยใหม่ที่มีลักษณะคงทนถาวรเกือบทั้งหมดลงทุนจัดการโดยรัฐ

3.4 เทคโนโลยีการหล่อโลหะ
การค้นพบเครื่องมือโลหะที่มีอายุกว่าห้าพันปี สะท้อนให้เห็นถึงความรู้และเทคโนโลยีการหล่อโลหะ ทั้งการค้นพบแหล่งแร่ การถลุงแร่ ความรู้ในการใช้อุณหภูมิที่สูงในการหลอมและการนำมาผลิตเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ คนไทยได้พัฒนาความรู้ด้านนี้สร้างสรรค์เป็นงานโลหะขนาดใหญ่จนเป็นภูมิปัญญาเด่นของไทย
มนุษย์ในดินแดนประเทศไทยปัจจุบันได้พัฒนาการใช้เครื่องมือจากยุคหินมาถึงยุคโลหะเป็นลำดับ การทำเครื่องมือโลหะนับเป็นการพัฒนาก้าวสำคัญ โดยเริ่มจากการใช้ทองแดงที่ต่อเนื่องมาเป็นการใช้โลหะผสมระหว่างทางแดงกับดีบุก คือ สำริด แล้วรู้จักการใช้เหล็ก รู้จักคิดค้นสิ่งประดิษฐ์ที่ช่วยให้เกิดการพัฒนาทางเทคโนโลยีและสร้างสรรค์กิจกรรมต่างๆทั้งด้านเศรษฐกิจ วัฒนธรรม ศิลปกรรม ศาสนา เป็นต้น
เทคโนโลยีด้านหล่อโลหะที่โดดเด่นของไทยคือ การหล่อประติมากรรมโลหะ ที่นับเป็นการพัฒนาเทคโนโลยีโลหะวิทยาในระดับสูงด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่น เมื่อมาถึงสมัยสุโขทัยจึงปรากฏงานหล่อโลหะเป็นพระพุทธรูปขนาดใหญ่จัดเป็นยุคทองของการหล่อประติมากรรม
ความรู้ในการหล่อโลหะเป็นประติมากรรมในปัจจุบันได้มีการปรับประยุกต์ความรู้เทคโนโลยีสมัยใหม่เข้าด้วยกันอย่างกลมกลืน เทคโนโลยีการหล่อโลหะจึงเป็นภูมิปัญญาไทยที่ได้สืบทอดให้เห็นประจักษ์และเป็นที่ยอมรับทั่วกันมาจนถึงทุกวันนี้

Credit By PuPaKae @ 10151 ไทยศึกษา (ถอดคำบรรยาย)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

ผู้ให้ข้อมูลร่วมกัน