14 ส.ค. 2555

10151 ไทยศึกษา หน่วยที่6

หน่วยที่ 6 
ความเชื่อและศาสนากับสังคมไทย

ตอนที่ 1 
ข้อพินิจเบื้องต้นเรื่องความเชื่อและศาสนา

1.1 ความเชื่อและศาสนาในแง่วัฒนธรรม
ความเชื่อเป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างสรรค์ขึ้น เมื่อก่อตัวเป็นระบบก็มักเรียกว่าศาสนา ความเชื่อและศาสนาเชื่อมโยงสถาบันทางการปกครอง เศรษฐกิจ และ สังคม ความเชื่อและศาสนาจึงเป็นสถาบันหลักทางวัฒนธรรมความเจริญของสังคม

1.2 ความเชื่อ ศาสนา ลัทธิ ปรัชญา
(1.) ความเชื่อ หมายถึง การไว้วางใจกัน การเชื่อถือ การนับถือ
(2.) ศาสนา แปลตามศัพท์ว่า คำสอน การสอนก็นับเป็นระบบความเชื่ออย่างหนึ่ง
(3.) ลัทธิ หมายถึงสิ่งที่รับมานับถือ
(4.) ปรัชญา หมายถึง หลักแห่งความรู้และความจริง

1.3 ทฤษฎีเกี่ยวแก่กำเนิดศาสนา
ทฤษฎีเรื่องกำเนิดศาสนามีมากมายพอสรุปได้ว่า เป็นธรรมชาติของมนุษย์ พวกหนึ่งว่าเกิดเพราะความกลัวทำให้มนุษย์คิดเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เรื่องพระผู้เป็นเจ้า อีกพวกหนึ่งไม่ค่อยใส่ใจเรื่องกำเนิดศาสนา แต่ดูบทบาทของศาสนาในสังคมเป็นเรื่องสำคัญ 

1.4 ระบบสำคัญต่างๆของศาสนา
ระบบความเชื่อของศาสนานี้มีระบบย่อย เช่น เรื่องปรัมปราคติ เรื่องจักรวาลวิทยา ระบบจริยธรรมศีลธรรม ระบบเรื่องการบรรลุจุดมุ่งหมายสูงสุด ระบบพิธีกรรมและระบบความคิดปรัชญา ระบบต่างๆเหล่านี้เมื่อซับซ้อนขึ้นต้องมีการบันทึกเป็นคัมภีร์ มีการศึกษา จึงต้องมีผู้เชี่ยวชาญสืบทอดเป็นครูสอนศาสนา หรือนักบวชแบบต่างๆเพื่อศึกษา สั่งสอน ประกอบพิธีกรรม

1.5 ศาสนากับสังคม
โดยเหตุที่ศาสนาเป็นเรื่องของพฤติกรรม ความเชื่อ ความคิด ความเห็นของมนุษย์ในสังคม การศึกษาศาสนาจึงทำให้เข้าใจพฤติกรรมของสังคมและการเปลี่ยนแปลงในสังคมได้ ศาสนาเกิดในสังคมและกำกับพฤติกรรมสังคมในแนวเดียวกันตั้งแต่ครอบครัว ชุมชน ไปถึงระดับประเทศ ศาสนาเกี่ยวข้องกับการเมืองการปกครอง การควบคุมคนผ่านทางความเชื่อ ความขัดแย้งในทางความเชื่อของศาสนาและความเชื่อที่ต่างกันมักก่อเกิดการปะทะกัน บางครั้งลุกลามเป็นสงครามได้

เมื่อศาสนาสำคัญเช่นนี้จึงเกิดการศึกษาเรื่องราวของศาสนาอย่างเป็นระบบระเบียบทางวิชาการ เรียกว่า ศาสนศึกษา ศึกษาศาสนาตั้งแต่เรื่องคำสอน ศีลธรรม จริยธรรมโลกทัศน์ จักรวาลวิทยา ปรัชญา พิธีกรรม รวมไปถึงส่วนที่เป็นประวัติ พัฒนาการและความสัมพันธ์กับระบบอื่นๆในสังคม

ตอนที่ 2
ลักษณะและความเชื่อในสังคมไทย
2.1 ความเชื่อดั้งเดิม
ความเชื่อดั้งเดิมของไทยเชื่อเรื่องผีสางเทวดา เป็นความเชื่อทั่วไปที่พบในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แทรกซึมอยู่ในเรื่องต่างๆ เช่น ประเพณีการเกิด การตาย การดำเนินชีวิต การศึกสงคราม เชื่อกันว่าหากปรนนิบัติบูชาผีสางเทวดาถูกต้องจะมีอำนาจป้องกันภัยและบันดาลในการทำกิจกรรมให้สำเร็จดังปรารถนา

ความเชื่อเกี่ยวกับผีหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์มีิอิทธิพลต่อสังคม วัฒนธรรม ตลอดจนวิถีชีวิตเป็นส่วนหนึ่งในการกำหนดความสงบเรียบร้อยของสังคม เมื่อบัญญัติกฎหมายการทำผิดก็เรียกว่าผิดผี กระบวนการทางกฎหมายสมัยก่อนมีเรื่องการดำน้ำลุยเพลิง พิสูจน์ความจริงความเท็จซึ่งมาจากแนวคิดเรื่องผีสางเทวดาเป็นสำคัญ

นอกจากนี้คนไทยยังมีคติเรื่อง ขวัญ การนับถือผีบรรพบุรุษ ความเชื่อเรื่องข้าว บนพื้นฐานวัฒนธรรมการเกษตร รวมทั้งความเชื่อเรื่องโลก-จักรวาล และการกำเนิดคน-สัตว์ด้วย

2.2 ศาสนาที่มาจากอินเดียและศาสนาอื่นๆ
- ศาสนาที่มาจากอินเดีย เมื่อเข้าสู่ยุคการนับถือศาสนา เริ่มแรกคงจะเป็นการติดต่อทางการค้ากับอินเดียที่ทำให้คนไทยได้รับศาสนาพราหมณ์ พุทธศาสนา มาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตและแทรกซึมอยู่ในทุกระบบสังคม เนื่องจากทั้งศาสนาพราหมณ์และศาสนาพุทธ เข้ากันได้กับความเชื่อดั้งเดิมและเอื้ออำนวยต่อการประกอบกิจกรรม ทั้งในกลุ่มชุมชนชั้นสูงและสามัญชน

- ศาสนาอื่นๆ 
(1.) ศาสนาอิสลาม ที่มีหลักโดยรวมของสังคมเท่าเทียมกัน ศาสนิกของศาสนี้จะรวมกันเป็นระบบระเบียบ
(2.) คริสตศาสนา ทั้งนิกายโรมันคาทอลิก ทั้งกลุ่มโปรแตสเตนท์ (คริสเตียน) ได้เผยแพร่ศาสนาพร้อมๆกับการนำความรู้และวิทยาการต่างๆ เช่น การพิมพ์ การแพทย์ และการศึกษา เข้ามาสู่สังคมไทย
(3.) ศาสนาสิกข์ เป็นกระแสใหม่ทางศาสนาของชาวอินเดียที่เข้ามาพร้อมกับพ่อค้าชาวอินเดียรุ่น่หลัง
(4.) ศาสนาฮินดู เป็นแขนงสาขาความคิดของศาสนาพราหมณ์

2.3 ลักษณะการนับถือศาสนาในสังคมไทย
สังคมที่มีหลายศาสนาอาจเกิดความขัดแย้งกันแต่ลักษณะการนับถือศาสนาในสังคมไทยถือว่าศาสนาเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจให้ทำความดี มักเลือกนับถือเพื่อใช้ให้ต้องตามจุดประสงค์สำคัญมีความยืดหยุ่นทางความเชื่อ  คนไทยจึงยอมรับความเชื่อหรือศาสนาอื่นๆได้มาก เรียกว่า มีขันติธรรมทางศาสนา

2.4 สังคมไทยในฐานะเป็นสังคมพุทธศาสนา
แนวคิดสำคัญในพุทธศาสนาแบบไทยคือ เรื่องการเวียนว่ายตายเกิด และ เรื่องกรรม นอกจากนี้ยังมีเรื่องบาปบุญคุณโทา เรื่องบารมี และ เรื่องการอุทิศส่วนบุญกุศล

ความเชื่อและศาสนาสนองความต้องการพื้นฐานของคนในสังคมแบบอื่นๆดังนี้คือ
(1.) เป็นระบบประกันภัย ทั้งโลกนี้และโลกหน้าเมื่อต้องเผชิญกับปัญหาหรือความไม่แน่นอนก็มักจะยึดสิ่งที่คิดว่า "ศักดิ์สิทธิ์" เพื่อขอความช่วยเหลืออย่างไม่จำกัด
(2.) เป็นระบบการสั่งสม เป็นการทำบุญสั่งสมทั้งเพื่อผลในภายภาคหน้าและที่ไม่หวังผล
(3.) เป็นระบบการส่งหรือการนำบุญกุศลไปสู่ผู้อื่นหรือภพอื่นๆ เปรียบได้กับไปรษณีย์ คือการทำบุญเก็บไว้ใช้ชาติหน้าหรืออุทิศให้ผู้ล่วงลับ นอกจากนี้ยังเชื่อว่าการอุทิศอาหาร ข้าวของถวายพระภิกษุ สร้างศาสนาสถาน ผู้ที่ล่วงลับไปแล้วจะได้รับสิ่งนั้น หรือไม่ก็เก็บไว้สำหรับตนเองก็ได้เช่นกัน

วัดจึงเป็นแหล่งเชื่อมโยงทางจิตใจนอกเหนือจากหน้าที่ในสังคม หน้าที่สำคัญที่สุดคือเป็นโรงเรียนสอนวิชาหนังสือ เป็นการศึกษาขั้นพื้นฐานไปจนถึงวิชาชั้นสูง ได้แก่วิชาคาถาอาคม การก่อสร้าง การช่าง งานศิลปะ วัดยังทำหน้าที่เป็นโรงพยาบาล สถานสงเคราะห์ โรงพยาบาลโรคจิต และโรงเลี้ยงคนชราและเด็กกำพร้าด้วย

ตอนที่ 3
ความเชื่อและศาสนาในวัฒนธรรมไทยแขนงต่างๆ
3.1 การปกครองและกฎหมาย 
ตามความคิดดั้งเดิมด้านการปกครองของไทย พระเจ้าแผ่นดินทรงเป็นศูนย์กลางของอำนาจทั้งทางโลกและทางธรรม ตามคติพราหมณ์ยกย่องพระเจ้าแผ่นดินเป็น "เทพเจ้า" ตามคติพุทธศาสนาทรงเป็น "ผู้บำเพ็ญบารมีเพื่อบรรลุโพธิญาณ" ทรงเป็นบุคคลที่เป็นแบบอย่างทางศีลธรรม เป็น "ธรรมราชา" ผู้ปกครองโดยธรรมเพื่อความผาสุกโดยรวม

ในด้านกฎหมาย ก่อนยุคสมัยใหม่ได้ใช้หลักธรรมทางด้านศาสนาในการกำหนดบทบัญญัติหรือการพิจารณาพิพากษาคดีความ

3.2 การศึกษา
ในสมัยจารีตนั้น วัด มีความสำคัญเป็นศูนย์กลางการศึกษา เป็นโรงเรียนสอนวิชาการต่างๆ แม้ว่าปัจจุบันการศึกษาจะแยกออกจากวัด แต่วัดก็ยังมีส่วนสร้างประโยชน์แก่ชุมชนเช่นกัน

3.3 ภาษา วรรณคดี และ ศิลปะแขนงต่างๆ
เมื่อสังคมไทยรับนับถือพุทธศาสนา ศาสนาพราหมณ์ เราก็รับวิชาความรู้และคำศัพท์ภาษาบาลี-สันสกฤต เข้ามาในภาษาไทยด้วย ทำให้เรามีคำศัพท์ใช้มากขึ้น นอกจากนี้ยังมีอิทธิพลด้านวรรณคดี เรื่องราวที่แต่งเป็นวรรณคดีไทยส่วนใหญ่ มาจากพุทธศาสนา ศาสนาพราหมณ์ เช่น รามเกียรติ์ ชาดกต่างๆ รวมทั้งคติความเชื่อที่ปรากฏในวรรณคดีก็แสดงแนวคิดในศาสนาด้วยเช่นกัน ความเชื่อและศาสนายังก่อเกิดศิลปะแขนงต่างๆ ทั้งประติมากรรม จิตรกรรม นาฏศิลป์ ดนตรี

ตอนที่ 4
สภาพความคิดความเชื่อและศาสนาในปัจจุบัน
4.1 ศาสนากับการเมืองการปกครอง
ความเชื่อดั้งเดิม ศาสนาพราหมณ์และศาสนาพุทธมีอิทธิพลต่อการเมืองการปกครองผสมผสานกันเป็นวัฒนธรรมไทยจึงไม่มีเหตุขัดแย้งทางการเมืองการปกครอง แต่เมื่อมีแนวคิดใหม่ที่แสดงความเชื่อของตนให้ออกมาเป็นเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม ทำให้เกิดการใช้วัฒนธรรมเหล่านั้นเพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองก่อให้เกิดความแตกแยกในสังคม จึงมีกลุ่มที่ออกมาต่อต้านกระแสเหล่านั้น ทำให้ปัญหาซับซ้อนยิ่งขึ้นไปจนถึงการไม่ยอมรับการปกครองจากศาสนิกต่างชาติ เรื่องศาสนากับการปกครองจึงเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนอย่างยิ่ง

4.2 ศาสนากับความคิดเรื่องมนุษยธรรม
ศาสนาเกี่ยวเนื่องกับความคิดเรื่องมนุษยธรรมในขณะที่สังคมไทยยุคปัจจุบันกำลังเปลี่ยนจากสังคมเกษตรกรรมเป็นสังคมอุตสาหกรรม เกิดปัญหาสังคมเมืองใหญ่ตามมา ศาสนาซึ่งเดิมมีส่วนช่วยผดุงมนุษยธรรมในสังคมอยู่แล้วแต่อาจไม่เป็นระบบหรืออาจเป็นระบบที่ไม่เข้ากับปัญา ต้องพยายามปรับตัวและมองปัญหาให้ถูกต้อง เพราะศาสนามีศักย๓าพที่จะทำงานด้านนี้เป็นอย่างดี

4.3 พุทธศาสนาในปัจจุบัน
สภาพการณ์ของสังคมที่เปลี่ยนไป วัดไม่ได้เป็นศูนย์กลางของสังคมโดยเฉพาะเมืองใหญ่ พุทธศาสนาถูกมองว่าไม่สนองตอบต่อสังคม พระภิกษุประพฤติย่อหย่อนจึงดูเหมือนว่าพุทธศาสนามีหน้าที่หลังทางพิธีกรรมเท่านั้น สถาณการณ์เหล่านี้ทำให้เกิดความพยายามปรับปรุงพระพุทธศาสนาในหลายด้าน

4.4 ศาสนาใหม่ในสังคมไทย
ความเปลี่ยนแปลงทางสังคมทำให้คนเสาะแสวงหาที่พึ่งใหม่ๆ เกิดเป็นความเชื่อศาสนาแนวใหม่ในศาสนาเดิมหรือเกิดศาสนาใหม่โดยมากเกี่ยวแก่การรักษาโรคร้าย แต่บางครั้งแนวคิดใหม่นี้ก็เป็นการก่อให้คนลุ่มหลงได้ อย่างไรก็ตามคราวใดที่เกิดปัญหาในสังคมพุทธศาสนาก็เป็นแหล่งพึ่งพิงที่คนมุ่งเสาะแสวงหาจากหลักธรรมอยู่ แสดงว่าพุทธศาสนายังเป็นกลจักสำคัญในสังคมไทย

Credit By PuPaKae @ 10151 ไทยศึกษา (ถอดคำบรรยาย)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

ผู้ให้ข้อมูลร่วมกัน